"WHAUP" โชว์กำไรปกติปี 2565 448 ล้านบาท - เคาะจ่ายปันผลรวมทั้งปี 0.16 บาทต่อหุ้น เร่งเครื่องลุยลงทุนใน-ต่างประเทศ ยกระดับการเติบโตแบบยั่งยืน
กรุงเทพฯ – บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP”) โชว์ผลการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,790 ล้านบาท และกำไรปกติ 448 ล้านบาท ล่าสุดบอร์ดเสริ์ฟข่าวดี อนุมัติจ่ายปันผลรวมทั้งปี หุ้นละ 0.16 บาท จ่อขึ้น XD วันที่ 27 เมษายน 2566 กำหนดจ่ายวันที่ 17 พฤกษภาคม 2566 ด้าน CEO “สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ” เร่งเครื่องลุยศึกษาแผนลงทุนใน-ต่างประเทศ พร้อมดึงโซลูชั่นใหม่ๆ ยกระดับองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2566-2570) ที่ 27,000 ล้านบาท พร้อมอัดงบลงทุน 5 ปี 18,500 ล้านบาท
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“WHAUP”) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานงวดปี 2565 ว่า บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 2,790 ล้านบาท และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) 448 ล้านบาท ลดลง 8% และ 48% ตามลำดับจากปีก่อน โดยรายได้รวมจากธุรกิจจำหน่ายน้ำและไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 จากปีก่อน แต่บริษัทได้รับผลกระทบทางลบจากต้นทุนพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า SPP และ IPP ลดลง ในขณะที่มีกำไรสุทธิซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 454 ล้านบาท ลดลง 38% จากปีก่อน
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP”) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานธุรกิจสาธารณูปโภค ในปี 2565 บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2564 โดยภาพรวมปริมาณจำหน่ายและบริหารน้ำในประเทศมีการเติบโตร้อยละ 4 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) ไม่ว่าจะเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูงให้กับโรงไฟฟ้า Gulf TS 3&4 และการให้บริการน้ำปราศจากแร่ธาตุให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (มาบตาพุด) ซึ่งโครงการทั้งสองได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปในปีที่ผ่านมา
สำหรับธุรกิจน้ำในเวียดนาม ปี 2565 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 26 จากปริมาณการจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศของเวียดนาม ซึ่งเป็นสัญญาณบวกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฐานลูกค้า และพื้นที่ในการให้บริการน้ำประปาที่ครอบคลุมมากขึ้น
ด้านธุรกิจพลังงาน บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าในปี 2565 จำนวน 486 ล้านบาท ลดลง 49% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าถ่านหิน GHECO-One อันเนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะในธุรกิจ SPP อันเนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เริ่มลดลงในขณะที่รับรู้การปรับขึ้นค่า Ft เป็น 0.9343 บาทต่อหน่วย เต็มไตรมาส ซึ่งส่งผลบวกต่อ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ SPP ในปี 2566 จากการรับรู้การปรับขึ้นของค่า Ft เป็น 1.549 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา
ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2565 บริษัทฯ มีการเติบโตอย่างโดดเด่น สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมอีก 37 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วรวม 94 เมกะวัตต์ ทำให้รับรู้รายได้ในปี 2565 เท่ากับ 207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากปีก่อน ในขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการเซ็นต์สัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจำนวน 31 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 26 สัญญา คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 41 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงสัญญากับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ (Solar Carpark) ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 7.7 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 5 สัญญา มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีจำนวนสัญญาโครงการ Private PPA จากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมจำนวน 133 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 683 เมกะวัตต์
จากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้จ่ายปันรวมสำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ที่ 0.16 บาทต่อหุ้น โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.06 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.10 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 27 เมษายน 2566 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงิน และการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสม่ำเสมอของธุรกิจ
CEO WHAUP กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ เร่งขับเคลื่อนในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 บริษัทฯ วางแผนและทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อเดินเกมรุกผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน โดยมุ่งเน้นต่อยอดธุรกิจทั้งภายใน และภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งในประเทศและประเทศเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2566 - 2570) ที่ 27,000 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งงบลงทุนภายใน 5 ปี ไว้ที่ 18,500 ล้านบาท
ในปี 2566 บริษัทฯ พร้อมเปิดโอกาสด้านการลงทุนใหม่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะอุตสาหกรรม และพลังงานประเภทอื่น ๆ โดยตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสมเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าร่วมเสนอชื่อเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งเปิดรับซื้อโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยผ่านการคัดเลือกด้านเทคนิคจำนวน 5 โครงการ คาดว่าจะทราบผลการตัดสินรอบสุดท้ายภายในเดือนมีนาคมนี้
นอกจากนั้น WHAUP ยังมีความมุ่งมั่นในการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดการเติบโตและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยเน้นการใช้นวัตกรรมโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งลูกค้า ชุมชน และสังคม อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จาก Wastewater Reclamation หรือการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมาใช้ใหม่ ช่วยให้ลูกค้ามีน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูงใช้ในราคาที่ถูกลง และลดปริมาณน้ำเสียที่จะถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สอดคล้องกับเจตนารมย์ของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล